image
1/8/2019

เพชรก็มีราคากลางเหมือนทองนะ

หลายคนที่เป็นมือใหม่เกี่ยวกับการซื้อเพชรหรือแม้แต่คนที่ซื้อเป็นประจำก็ตามคงมีข้อสงสัยไม่ต่างกันทำนองว่า ทำไมเพชรที่น้ำหนักเท่ากันแต่ราคากลับต่างกันมาก หรือบางครั้งเพชรที่น้ำหนักใกล้เคียงกันแค่ 0.01 กะรัต ดันแพงกว่ากันแบบคนละเรื่อง แบบนี้หมายความว่าร้านเพชรสามารถตั้งราคาได้เองตามใจชอบเลยหรือเปล่า ไม่ได้มีราคากลางเหมือนทองที่ไม่ว่าจะซื้อร้านไหนก็มีราคาเท่ากันหมดใช่ไหม? จริงแล้วรายละเอียดตรงนี้ต้องผ่านการอธิบายหลายขั้นตอนมาก ๆ และบอกไว้ก่อนเลยว่าเพชรเองก็มีราคากลางเหมือนกับทอง

 

ราคากลางของเพชรดูได้จากที่ไหน?

สำหรับคนที่อยู่ในวงการเพชรทุกคนจะรู้ดีว่าหากต้องการรู้ราคากลางของเพชรจะต้องดูจาก Rapaport ซึ่งก็คือใบแสดงราคากลางของเพชรนั่นเอง โดย Rapaport จะมีการประกาศราคาทุก ๆ วันศุกร์ โดยราคาที่ออกมามีได้ทั้งไม่ปรับราคาใด ๆ เลย หรือมีการปรับราคาขึ้นลงอยู่ที่ปัจจัยหลาย ๆ ประการ เช่น ความต้องการเพชรของตลาดโลก ทั้งนี้การปรับราคาของเพชรไม่ได้มีการปรับหมดทุก ๆ ตัวอาจปรับแค่บางสี บางขนาด ความสะอาดของเพชร อย่างใดอย่าหนึ่งก็ได้ ทว่าส่วนใหญ่แล้วราคากลางของเพชรไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก ซึ่งในใบ Rapaport ตัวนี้จะแบ่งราคากลางของเพชรออกเป็น 2 แบบ คือ เพชรทรงกลม หรือ Round Brilliant ใช้ราคา Rounds มี 18 ตาราง และ เพชรแฟนซี หรือ Fancy Cut ใช้ราคา Pear Shape มี 14 ตาราง 14 ไซส์

โดย Rapaport มีต้นกำเนิดมาจาก Martin Rapaport มีอาชีพเจียระไนเพชรอยู่ที่แอนท์เวิร์ป เบลเยียม ตอนปี 1975 เขาเริ่มมีการนำเพชรออกมาวางจำหน่ายในเมืองนิวยอร์กเป็นเพชรที่แบบเจียระไนแล้วกับยังไมได้ผ่านการเจียระไน พอปี 1978 ตัวเขาจึงทำการรวบรวมราคากลางโดยเขียนขึ้นเป็นตารางสำหรับสร้างแนวทางให้การขายเพชรเป็นเรื่องง่ายมากขึ้น นั่นคือจุดที่ทำให้ Rapaport กลายมาเป็นตารางราคากลางของเพชรแบบที่เราเห็นกันทุกวันนี้

นั่นคือสิ่งที่ทำให้ทุกคนเข้าใจแล้วว่าจริง ๆ เพชรเองก็มีราคากลางไม่ต่างกับสินค้าประเภทอื่น ๆ อย่างทอง กระนั้นเชื่อว่าหลายคนเองก็ยังสงสัยอยู่ดีว่าในเมื่อเพชรมีราคากลางแล้วทำไมราคาของเพชรจึงไม่เท่ากันทั้งที่น้ำหนักเท่าหรือใกล้เคียงกันมาก?

 

สาเหตุที่ราคาเพชรไม่เท่ากัน

ต้องบอกว่าเพชร 1 กะรัต นั้นมีขอบราคาที่กว้างพอสมควร บางเม็ดอาจมีราคาแค่หลักหมื่นต้น ๆ แต่บางเม็ดอาจกระโดดขึ้นไปเป็นหลักแสน เมื่อมองแบบนี้แน่นอนว่ามันต่างกับทองที่ราคาเท่ากันหากมีน้ำหนักเท่ากัน เรื่องนี้มีคำอธิบายที่จะทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นโดยจะขอยกตัวอย่างแค่เพชรทรงกลมที่เป็นเพชรยอดนิยมเท่านั้น

เรื่องแรกจำไว้ก่อนเลยว่าน้ำหนักของเพชรเรียกเป็นกะรัต โดย 1 กะรัต มีค่า 100 ตัง และราคาเพชรต่อกะรัตจะเพิ่มหากเข้าสู่ลำดับขั้นที่สูงขึ้น นั่นหมายความว่าราคาของเพชรที่เปลี่ยนแปลงไปไม่ได้เกิดจากน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นแต่อาจเกิดจากลำดับขั้น ยกตัวอย่างเพชรน้ำหนัก 0.98 กะรัต ราคาอาจใกล้เคียงกับเพชรน้ำหนัก 0.99 กะรัต แต่ถ้าเปลี่ยนจาก 0.99 กะรัต เป็น 1 กะรัต ราคาจะดีดขึ้นสูงกว่ามากทั้ง ๆ ที่น้ำหนักห่างกันแค่ 0.01 กะรัตเท่ากัน สิ่งเหล่านี้คือความหมายของคำว่า ลำดับขั้นที่สูงกว่า เป็นเรื่องจิตวิทยาที่โลกใบนี้ได้สร้างขึ้นทำนองว่าการซื้อเพชรเป็นการซื้อจากอารมณ์มากกว่าเหตุผล คนที่เลือกซื้อเพชร 1 กะรัตย่อมมีความภูมิใจเมื่อเดินไปบอกคนนั้นคนนี้ว่าเพชรในมือ 1 กะรัต ต่างกับคนที่ซื้อ 0.99 กะรัต จะไปบอกใครเขาได้เต็มปากก็ไม่กล้ามากนัก

มีอีกตัวอย่างน่าสนใจในด้านจิตวิทยา เป็นเรื่องคุณภาพเพชรเมื่อผ่านการเจียระไน อย่างเพชรเม็ดหนึ่งที่เจียระไนออกมาแม้จะไม่ได้เต็ม 1 กะรัต แต่สวยงามกว่ามากจนคิดว่าราคาแพงแน่ ๆ พอเทียบกับเพชรเจียระไนออกมา 1 กะรัต ซึ่งไม่ได้สวยเท่า ใครก็ต้องนึกว่าเพชรที่สวยราคาแพงกว่า ทว่าราคาของเพชร 1 กะรัตที่ดูไม่สวยก็ยังคงสูงกว่าหลายเท่าอยู่ดี

สิ่งเหล่านี้คือเรื่องราวของราคาเพชรและราคากลางเพชรที่หากใครสนใจอยากซื้อจำเป็นต้องศึกษารายละเอียดให้ถ่องแท้จะได้ไม่โดนหลอกเอาง่าย ๆ